ปัจจุบัน สถานพยาบาลชั้นนำในเมืองไทย เริ่มมีการแสดงภาพโลโก้สีทองทรงกลมที่มีข้อความสั้นๆ ปรากฎบนตัวโลโก้ว่า Joint Commission International Quality Approval หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่าโลโก้นี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมโรงพยาบาลถึงให้ความสำคัญจนต้องนำมาปรากฎให้เห็นโดยทั่วกันเช่นนี้ |
|
สำหรับคนไทยอาจยังไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นตาแพร่หลายมากนักกับการรับรองคุณภาพที่มีชื่อว่า Joint Commission International (JCI) แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา สัญลักษณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยคัดกรองสถานพยาบาลที่มีคุณภาพให้ผู้รับบริการได้มั่นใจว่า สถานพยาบาลแห่งนั้นมีการให้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการเป็นสำคัญ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสามารถตรวจสอบได้ |
|
JCI คืออะไร ? |
The Joint Commission International (JCI) อยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commissionซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานมานานกว่า 75 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรวจประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนให้การรับรองมาตรฐานคุณภาพแก่สถานพยาบาลที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด
การตรวจประเมินเพื่อพิจารณารับรองโรงพยาบาลตามมาตรฐาน JCI นั้น ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการองค์กร ทิศทางและภาวะผู้นำ ระบบโครงสร้างความปลอดภัยทางกายภาพ ระบบการรองรับภาวะฉุกเฉิน ระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ระบบการสื่อสารและสารสนเทศ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ระบบคุณภาพและความปลอดภัยผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการดูแลรักษาตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล จนกระทั่งผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและอาการที่เป็น รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อให้กระบวนการดูแลรักษาเกิดผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 300 แห่งจาก 39 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI เพียง 11 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลเวชธานีเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองดังกล่าว |  |
|
|
JCI เชื่อถือได้แค่ไหน ? |
สิ่งที่ทำให้ JCI เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ คือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การกำหนดหรือปรับปรุงมาตรฐานของ JCI แต่ละข้อจะต้องมีผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือสนับสนุน JCI จึงมีการทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization), Institute for Healthcare Improvement (IHI), Institute for Safe Medication Practices (ISMP), National Fire Protection Association (NFPA) เพื่อศึกษาค้นคว้าหาสาเหตุของปัญหา หรือความเสี่ยง และร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และนำมาจัดทำเป็นมาตรฐานสากลต่อไป ตัวอย่างเช่น การที่ JCI ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดทำเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยนานาชาติ (International Patient Safety Goals; IPSG) ซึ่งได้จากการรวบรวมอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจัดระดับความเสี่ยง, ความรุนแรง และโอกาสที่จะเกิด แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และกำหนดเป็นมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอย่างปลอดภัยในระดับสากล |
|
โดย IPSG มีทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่ การระบุตัวผู้ป่วยถูกต้อง, การพัฒนาประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้การดูแลผู้ป่วย, การเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังสูง, การสร้างระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการผ่าตัดผู้ป่วยให้ถูกคน ถูกตำแหน่ง ถูกหัตถการ, การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพ, และการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายของผู้ป่วยจากภาวะพลัดตกหกล้มในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงได้ |
|
 |
การตรวจประเมินที่เข้มงวดและละเอียดถี่ถ้วนของคณะผู้ตรวจประเมิณคุณภาพโรงพยาบาลจาก The Joint Commission |
|
แล้วผู้ป่วยจะได้อะไรจากมาตรฐาน JCI ? |
การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน JCI ส่งผลให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงพยาบาลในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ประโยชน์จาก JCI ที่ผู้ป่วยจะได้รับที่เห็นได้ชัดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ JCI ได้ทำการพัฒนาร่วมกับองค์การอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมายความปลอดภัยไว้ทั้งหมด 6 ข้อ ที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ |
- เป้าหมายที่ 1 ระบุตัวผู้ป่วยถูกต้อง (ถูกคน) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและถูกคน
- เป้าหมายที่ 2 บุคลากรในทีมดูแลผู้ป่วยจะต้องมีการสื่อสารระหว่างกันที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสารข้อมูลการรักษาพยาบาล
- เป้าหมายที่ 3 ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและเฝ้าระวังหากมีการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังสูง
- เป้าหมายที่ 4 ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ถูกตำแหน่ง ถูกหัตถการ ถูกคน
- เป้าหมายที่ 5 ผู้ป่วยจะปลอดภัยจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรในทีมดูแลผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วยล้างมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคไปสู่ผู้ป่วย
- เป้าหมายที่ 6 ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและได้รับการเฝ้าระวังในทุกจุดบริการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายของผู้ป่วยจากภาวะพลัดตกหกล้มในโรงพยาบาล
|
เป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยนี้ นับเป็นเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด การที่โรงพยาบาลเวชธานีได้รับการรับรองคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลและการบริการด้วยมาตรฐานสากล JCI นี้ เป็นการยืนยันว่าโรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ |
|
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับสถานพยาบาลที่มีการรับรองคุณภาพ ? |
 | หากสถานพยาบาลใดให้ความสำคัญกับการตรวจประเมินเพื่อรับรองคุณภาพ แสดงว่าสถานพยาบาลนั้นมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ และการบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการบริการต่อประชาชน แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า การพัฒนาคุณภาพบริการของสถานพยาบาลนั้นๆ มีมาตรฐานจริง พิจารณาจากอะไร วิธีง่ายๆ ในเบื้องต้น ก็คือจากการผ่านกระบวนการรับรองคุณภาพต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายมาตรฐาน เช่น มาตรฐานการรับรองกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล หรือ HA (Hospital Accreditation), มาตรฐาน ISO 9001 : 2008, มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงมาตรฐานสากลอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น มาตรฐาน JCI โดยแต่ละมาตรฐาน แม้จะมีรายละเอียดที่ต่างกัน แต่ก็มุ่งเน้นที่การพัฒนากระบวนการบริการและการรักษาพยาบาล ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าสถานพยาบาลนั้นๆ มีคุณภาพตามมาตรฐานจริง
การพัฒนาจนผ่านการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชนหรือผู้ป่วยที่มารับบริการนั่นเอง |
|
|
10 วิธีพิจารณาโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ |
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดทำและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคุณภาพโรงพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไป โดยนำเสนอและสรุปเป็น 10 วิธีหลักๆ ดังนี้ |
- หน่วยบริการที่มีคุณภาพ อย่างน้อยต้องได้รับการรับรอง หรือมีระบบการพัฒนาคุณภาพบริการระบบใดระบบหนึ่งที่มีใช้อยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
- หน่วยบริการให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินเป็นอันดับแรก ก่อนการสอบถามว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้จากระบบใด ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่
- ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพ หรือสร้างเสริมสุขภาพตนเองของประชาชน และมีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการด้วย
- ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ญาติ ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา หรือการส่งต่อ โดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีหน้าที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ ในเรื่องผลการวินิจฉัย อาการ การดำเนินโรค แนวทาง หรือทางเลือกในการรักษา และผลในการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนให้ผู้ป่วย ญาติ ตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษานั้นๆ หรือถูกส่งต่อ
- ไม่รั้งรอที่จะส่งตัวผู้ป่วย เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่องหรือทันท่วงที
- ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย 10 ประการเป็นลำดับต้นๆ
สิทธิผู้ป่วย คือ ความชอบธรรมที่ผู้ป่วยจะพึงได้รับเพื่อคุ้มครอง หรือรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งควรมีการติดประกาศหรือมีการสื่อสารให้ผู้ป่วยทราบถึงสิทธินี้ในพื้นที่ให้บริการ
- สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของยาที่ใช้ในหน่วยบริการได้ ว่ามาจากบริษัทใด หมดอายุเมื่อใด หรือมีการจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพียงใด
- หน่วยบริการนั้นๆ มีความยินดีที่จะให้ข้อมูล หรือตอบข้อซักถาม ความคับข้องใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมากับผู้ป่วยหรือญาติ
- สถานที่ตรวจรักษา ให้คำปรึกษา มีความเป็นสัดส่วน สะอาด และมีพื้นที่ให้บริการที่เพียงพอ ไม่แออัด มีระบบที่ป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล
- มียานพาหนะเพื่อใช้ในการส่งต่อผู้ป่วย เมื่อจำเป็นต้องย้ายไปโรงพยาบาลในระบบหลักประกัน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย
|
|
ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการกับสถานพยาบาลใด การพิจารณาถึงคุณภาพนับเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกสถานบริการแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น